 ภายในอาคารเฉลิมพระเกียรติมีส่วนนิทรรศการและพิพิธภัณฑ์สวนสมุนไพร ส่วนอาคารพิพิธภัณฑ์ประกอบด้วยการแสดง 6 ส่วน ดังนี้
ส่วนที่ 1 สมุนไพรกับวิถีไทย รวบรวมข้อมูลด้านสมุนไพรจากป่า แหล่งกำเนิดในป่าเขตร้อนของไทยว่า เป็นแหล่งกำเนิดตัวยารักษาโรค เป็นคลังปัญญาจากธรรมชาติที่อยู่รอบ ๆ ตัว จำลองบรรยากาศหมอยาพื้นบ้าน 4 ภาค
ส่วนที่ 2 อาหารเป็นยา นำเสนอความหลากหลาย ในการนำสมุนไพรไทยไปใช้ประโยชน์ เป็นอาหารและยา เช่น ดม พ่น ดื่ม กิน อบ ประคบ ทา และพอก เป็นต้น บอกเล่าถึงคุณค่าของผักพื้นบ้าน ในภูมิภาคต่างๆ ของไทย โดยเฉพาะพืชผัก 10 อันดับแรก ที่ให้แร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย

ส่วนที่ 3 กินตามธาตุ ยกย่องภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย ที่รู้ว่าร่างกายมนุษย์ประกอบด้วยธาตุ 4 ธาตุ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งการกินอาหารเพื่อให้ธาตุต่าง ๆ ในร่างกายอยู่ในภาวะสมดุล จะทำให้ร่างกายแข็งแรง มีคอมพิวเตอร์แสดงผลธาตุประจำกายแต่ละคน พร้อมเมนูอาหารตามธาตุ
ส่วนที่ 4 ใช้สอยสารพัน ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ แสดงให้เห็นถึงการนำสมุนไพรไทย ไปใช้ประโยชน์ ทั้งในทางยา และยังสามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่แพร่หลาย เช่น น้ำยาล้างจาน น้ำยาสระผม ที่มีความต้องการใช้สูง ในชีวิตประจำวัน
ส่วนที่ 5 ร่างกายต้นไม้ ใช้บอร์ด และกราฟฟิกรูปต้นไม้ ประกอบคำบรรยายถึงส่วนใดบ้างของพืช ที่มีสรรพคุณทางยา เช่น ชะมวงใช้ผลทำยาระบายท้อง แก้วใช้ดอกทำยาแก้ไอ กระหายน้ำ
ส่วนที่ 6 ชวนเที่ยวชมสวนสมุนไพร เป็นเรื่องสุดท้าย ก่อนเข้าเยี่ยมชมสวนสมุนไพร ใช้โมเดลและวีดิทัศน์ แสดงให้เห็นถึงภาพรวมของข้อมูลพื้นฐาน ภายในสวนสมุนไพร
ภายในอาคารเฉลิมพระเกียรติฯ มีส่วนจำหน่ายสินค้าชุมชน อาหาร ของที่ระลึก พร้อมบริการนวดเพื่อสุขภาพโดยคนในชุมชน มีห้อง e-learning สำหรับค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม ภายในสวนมีเรือนพักผ่อนประกอบด้วยศาลาพิกุล ศาลาราชพฤกษ์ ศาลาอินทนิล ศาลาทองหลาง ศาลาเรือนไทย |