Highlight Sala-Tanum
Highlight About Us Sala-Tamun About Us
About Us

highlight
Our Products
Highlights
FAQs
Contact
Tips
About Us


บทสัมภาษณ์: ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา "ตอบโจทย์" สังคมไทยหลังวิกฤติ (8/8)

pinyo

GM: ว่ากันว่า มีการใช้สื่อใหม่เหล่านี้เป็นเครื่องมือในการ "ล่าแม่มดŽ เหมือนในสมัยแม็คคาร์ธีส์ของอเมริกาที่มีการล่าคอมมิวนิสต์ คุณคิดอย่างไร
ภิญโญ : คือการล่าแม่มดมีมาทุกยุคทุกสมัย เพราะเป็นการง่ายที่จะหาแม่มดแล้วก็ป้ายสีใครสักคนหนึ่ง นี่แค่เปลี่ยนวิธีการ เมื่อก่อนอาจจะใช้คบเพลิงจุดสว่างๆ แล้วไปตามหาตามบ้านว่าใครทำพิธีกรรมอันน่ากลัว แล้วลากมาเผาไฟเสีย สมัยนี้ง่ายมาก เปิดแอร์อยู่ที่บ้าน แล้วออนไลน์ ล่าไปเรื่อยๆ วิธีการไม่ต่างกัน แค่เปลี่ยนเครื่องมือเฉยๆ เป็นการล่าแม่มดที่สะดวกสบายดี

เวลาแม่มดตาย สมัยก่อนจะได้กลิ่นเนื้อสดๆ ไหม้ เพราะคุณเผาเขาจริงๆ เขาก็ตายไปต่อหน้าต่อตา อาจจะมีความสะเทือนใจให้คุณเห็นบ้าง แต่วันนี้คุณล่าแม่มดออนไลน์ เวลาเขาตายทางความรู้สึก เวลาไปทำลายหน้าที่การงานทั้งหลาย คุณไม่ได้กลิ่นเนื้อสดๆ ของเขา คุณไม่รู้หรอกว่าทุกๆ คลิปที่คุณส่งออกไป ทุกวาจาที่คุณเขียนออกไป ในการทำลายคนคนหนึ่ง มันมีกลิ่นเนื้อไหม้อยู่เหมือนครั้งหนึ่งในอดีตที่เราเผาคน แต่พอดีคุณไม่เห็น ไม่ได้กลิ่น คุณก็เลยไม่สะเทือนใจ จนวันหนึ่งมันอาจย้อนกลับมาที่คุณ คนใกล้ชิดคุณ เหมือนการตายของคนเสื้อแดง ตราบใดที่เขาไม่ใช่ญาติมิตรลูกหลาน คุณก็ไม่มีน้ำตาให้เขา แต่ถ้าคนเหล่านั้นเป็นพ่อแม่ลูกหลานคุณไม่ต้องเรียกร้อง น้ำตามันก็มาเอง

GM: ทำไมคุณไม่มีเฟซบุ๊คหรือทวิตเตอร์
ภิญโญ : คือผมมีช่องทางการสื่อสารกับสังคมอยู่แล้ว ผมทำรายการโทรทัศน์นี่ผมสื่อสารกับสังคมทุกวัน แล้วเป็นการสื่ออย่างระมัดระวัง ช่วงหลัง ๆ ผมระมัดระวังมากในการใช้คำ ในการถาม เพราะรู้ว่าคนดูเป็นล้านคน กระนั้นก็ยังมีคนช่วยท้วงติงเป็นระยะ ทั้งกัลยาณมิตรและผู้ชมทั่วไป แต่สื่อที่ใช้ความเร็วขนาดนี้ ผมไม่แน่ใจว่าจะสื่ออะไรที่หลุดออกไปบ้าง แล้วบางเรื่องผมก็ไม่ต้องการสื่อในการทำรายการการเมืองที่ต้องยืนให้นิ่ง ความคิดเห็นส่วนตัวออกไปแล้วมันอาจจะกระทบกับจุดยืนในการทำรายการ ทำให้ยากที่จะสื่อสารแสดงทัศนคติ ผมจึงเลี่ยงที่จะสื่อสารเพื่อรักษาจุดยืนในการทำหน้าที่แบบนี้ไว้

GM: ก็แปลว่าตอนนี้ไม่ทำงานเขียนด้วย คุณยอมทิ้ง ยอมหยุดงานเขียนเพื่อทำงานนี้หรือ
ภิญโญ : ผมไม่เขียน ไม่แสดงความเห็นทางการเมือง โดยส่วนตัวผมอยากจะพักอยู่แล้ว เพราะคิดว่าเขียนหนังสือมาหลายเล่ม ใช้พลังงานไปค่อนข้างเยอะ เลยเป็นจังหวะที่พอดีกัน แต่ผมไม่รู้สึกว่าตอนนี้ผมสามารถไปเขียนวิพากษ์วิจารณ์อะไรได้ อย่างน้อยก็ไม่สามารถวิจารณ์ตัวบุคคลทั้งหลาย เพราะมันขัดแย้งกับงานที่ทำอยู่ ก็เลยต้องเลือก แต่นี่ก็กำลังรวมเรื่องปัญญาญี่ปุ่นที่เขียนลงในนิตยสาร ค.คน กำลังนั่งแก้ไขต้นฉบับอยู่ คิดว่าน่าจะออกมาเป็นเล่มได้เร็วๆ นี้

GM: มีคนบอกว่า เวลาสถานการณ์แหลมคม เสียงของนักเขียนจะดังขึ้น เวลาบ้านเมืองราบเรียบ นักเขียนจะเสียงเบาลง แต่ที่เกิดขึ้นในตอนนี้ดูเหมือนนักเขียนไม่ได้เสียงดังหรือมีพลังมากขึ้น คนที่มีพลังในการพูดมากกว่า ถ้าไม่เป็นนักวิชาการ ก็เป็นสื่อมวลชน นักเขียนกับกวีหายไปไหน
ภิญโญ : ต้องยอมรับว่าในหลายปีที่ผ่านมา สังคมไทยแล้วก็สังคมโลกมันเปลี่ยนเร็วมาก อัตราการเปลี่ยนอาจจะมากกว่าในรอบหลายร้อยปีที่ผ่านมารวมๆ กัน ผมคิดว่านักเขียนไทยอาจไม่สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้เร็วพอคืออาจจะรับมือได้ แต่ยังไม่สามารถผลิตงานวรรณกรรมที่ตอบสนองหรืออรรถาธิบายความเปลี่ยนแปลงของสังคม เพราะวรรณกรรมเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ซึ่งก็ไม่รู้ว่าต้องใช้เวลาแค่ไหนถึงจะอธิบายความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เกิดขึ้นได้

ทีนี้เมื่อไม่สามารถอธิบายความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เกิดขึ้นได้ พลังมันก็น้อย การที่จะผลิตงานที่แหลมคมมาสักเล่มหนึ่งแล้วอยู่ไปได้สิบปีเหมือนนักเขียนต่างประเทศมันทำไม่ได้ นักเขียนก็เลยต้องทำงานอีเหละเขละขละ สะเปะสะปะไปหมด แล้วส่วนหนึ่งสื่อมวลชนก็เป็นนักเขียนด้วย นักเขียนบางส่วนก็เป็นสื่อมวลชนด้วย นักเขียนก็ไปผลิตความคิดเห็นผ่านช่องทางนั้นก็พอสมควร

ในขณะที่นักวิชาการนั้น อย่างน้อยมีความปลอดภัยทางเศรษฐกิจ มีเงินเดือน จากค่าสอน ค่าทำวิจัย มันง่ายที่จะใช้ตรงนั้นผลิตความแหลมคมทางความคิด บทบาทก็เลยเด่นขึ้นมามากกว่านักเขียน นักเขียนผมคิดว่าต้องใช้เวลาในการตกตะกอนค่อนข้างสูง ซึ่งในตอนนี้ยังไม่ตก ยังแกว่งอยู่ (หัวเราะ) ก็หวังว่าในช่วงหลังจากนี้เราจะได้งานวรรณกรรมที่ดี ได้ความแหลมคมทางความคิดจากนักเขียนไทย ซึ่งตอนนี้เป็นเนื้อนาบุญที่ดีมากในการที่จะมีอะไรงอกมาจากแผ่นดินไทยตอนนี้ อย่างน้อยก็ในทางวรรณกรรม เราสู้กันไปแทบตายถ้าไม่มีวรรณกรรมดีๆ ออกมาเลยนี่น่าเสียดายมาก

GM: Open จะมีโครงการอะไรใหม่ ๆ ไหม
ภิญโญ : ก็คิดว่าจะตั้งพรรคการเมือง (หัวเราะ) ที่หัวเราะนี่หมายถึงพูดเล่นนะครับ เดี๋ยวนี้ต้องอธิบาย เพราะคนไม่มีอารมณ์ขันกันแล้ว ทุกเรื่องจริงหมด ความจริงก็คือ ตอนนี้เราเริ่มกลับมาคุยกันว่าสำนักพิมพ์มีความจำเป็นต้องผลิตงานที่จะอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ในช่วงเวลาที่ผ่านมาออกมาได้แล้วจำเป็นต้องรวบรวมงาน เหมือนกับครั้งหนึ่งที่เราอยู่ในยุคของคุณทักษิณ

วันนี้ผมคิดว่าสังคมบางส่วนยังไม่รู้เลยว่าคนเสื้อแดงมากรุงเทพฯทำไม เราจำเป็นต้องผลิตคำอธิบายเหล่านี้ออกมาว่า เขามาทำไม เราจำเป็นต้องผลิตความคิดของคนที่ร่วมชุมนุมอยู่ว่าเขาคิดอะไร มีความจำเป็นต้องไปเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งหมดว่ารัฐบาลคิดอะไร ลึกๆ แล้วรัฐบาลคิดอะไร ซึ่งอาจไม่ได้เป็นหน้าที่ของสำนักพิมพ์เราอย่างเดียว แต่เป็นหน้าที่ของสื่อมวลชน เกิดอะไรขึ้นหลังจากการสลายการชุมนุมไปแล้ว ระบบความคิดเปลี่ยนยังไง เราจำเป็นต้องผลิตสื่อพวกนี้ออกมาเพื่อให้สังคมได้เรียนรู้ เราอาจจะผลิตคำตอบไม่ได้ แต่อย่างน้อยเราผลิตคำถามได้ ว่าอะไรคือคำถามที่เราควรจะถามในช่วงเวลาต่อจากนี้

GM: อะไรคือคำถามนั้น
ภิญโญ : Why we are here? เรามาอยู่จุดนี้ได้อย่างไร ถ้าตอบคำถามนี้ได้ก็จะตอบได้ว่าเราจะออกจากจุดนี้ได้อย่างไร

GM: คุณคิดว่านักวิชาการหรือนักคิดคนไหนที่เราควรฟัง หรือยังฟังและเชื่อถือได้อยู่บ้าง คนทั่วไปอาจไม่รู้หรือไม่ไว้ใจว่าคนไหนเป็นฝ่ายไหน มีวาระแอบแฝงอะไรบ้าง หรืออ่านได้ไม่ครบหมดทุกคน ถ้ามีความจำเป็นต้องเลือกอ่าน ในความเห็นของคุณ คุณแนะนำใครบ้าง
ภิญโญ : ผมอ่านทุกฝ่ายนะ ผมไม่สามารถเลือกเชื่อคนใดคนหนึ่งหรืออ่านส่วนใดส่วนหนึ่งได้ ผมอ่าน อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ อ.เกษียร เตชะพีระ ทุกๆ ครั้งที่คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ออกมาพูด ผมก็ฟังอย่างตั้งใจว่าคุณสนธิให้รายละเอียอะไรบ้าง คุณพิภพ ธงไชย ออกมาพูดผมก็ฟัง คุณอภิสิทธิ์ออกมาพูดอะไรผมก็พยายามฟังทุกครั้ง คุณสุเทพพูดก็พยายามฟัง คือเราต้องฟังทุกคน กระทั่งหม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล ผมก็ยังคลิกเข้าไปดูวอยซ์ทีวี เพราะอยากรู้ว่าทุกฝ่ายคิดอะไร ไม่จำเป็นว่าเราต้องเชื่อใครคนใดคนหนึ่ง ข้างใดข้างหนึ่ง ผมว่าเวลานี้จำเป็นต้องฟังว่าทุกฝ่ายคิดอะไร แต่วิจารณญาณต้องเป็นของเรา เราฟังทุกฝ่ายแล้วรู้ว่าการเคลื่อนไหวทางความคิดของแต่ละฝ่ายคืออะไร ที่สุดแล้วเราต้องเป็นคนตัดสินใจว่าเราจะให้น้ำหนักยังไง

สำหรับผม มันยากที่จะฟังใครคนใดคนหนึ่ง การอยู่กับสังคมไทยทุกวันนี้ซึ่งสลับซับซ้อนมาก เป็นไปไม่ได้เลยที่จะอยู่กับข้างใดข้างหนึ่ง แล้วจะเห็นความจริงทั้งหมด ยกเว้นว่าคุณมีความสุขกับความจริงข้างของคุณ แต่ขอโทษตบมือข้างเดียวนั้นไม่ดัง เราจึงมีนวัตกรรมมือตบและตีนตบ เพื่อที่เราจะได้ตบมันข้างเดียว

GM: ทุกวันนี้คุณยังมีความสุขกับการดื่มชาอยู่ไหม
ภิญโญ : ยังดื่มตลอดและมีความสุขดี

GM: การจิบชามีปรัชญาของมันหลายอย่าง คุณนำอะไรมาปรับใช้กับเรื่องความเป็นความตายที่เกิดขึ้นได้บ้างไหม หมายถึงกับข้างในของเรา
ภิญโญ : การชงชา ผมมองว่าเป็นขั้นตอนการเจริญสติ ต้องมีความระมัดระวังพอสมควร บางทีเราใจร้อน ทำเร็วๆ ชาก็หก บางทีเราเตรียมชาแล้ว แก้วเสียงดัง เรารู้เลยว่าวันนั้นเราไม่ค่อยมีสติ ถ้าอยู่คนเดียว ค่อยๆ เลือกตักใบชาใส่กา ไม่ต้องพิถีพิถันขนาดชงชาญี่ปุ่น แค่เอาชาจีนธรรมดา เทน้ำร้อนไม่ให้ลวกมือเรา เทแค่ไหนไม่ให้ล้น เทให้น้ำหนักมันพอดี คือเรื่องพวกนี้เป็นทักษะ แต่ทุกกระบวนการทำให้เกิดสติ แล้วที่สุดทำให้เรากลับมาอยู่กับตัวเราเอง แม้ในวันที่เราทุกข์ยากที่สุดหรือสมาธิเราไม่ดี บางวันสมาธิหรือสติไม่ดี ผมจะชงชาแล้วนั่งจิบชาไปเรื่อยๆ ก็เหมือนกับกลับมาอยู่กับตัวเรา กลับมาอยู่กับถ้วยชาถ้วยเดียว เหมือนกับอยู่กับลมหายใจ กลับมาอยู่กับถ้วยชา

แล้วในบางแง่มุม เวลาเจอกันเวลามีแขก ผมก็รู้สึกว่าได้ทำอะไรให้แขกบ้าง ซึ่งก็คือต้มน้ำร้อน ชงชา รินชาให้ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร สูงต่ำดำขาวมาจากไหน ผมก็รินชาให้เหมือนกัน คุณจะเป็นนักศึกษาฝึกงาน บรรณาธิการ ดารา หรือว่านักการเมือง ถ้านั่งอยู่ตรงนี้ผมก็เทน้ำชาให้เหมือนกัน ถ้วยเดียวกัน.


01 | 02 | 03 | 04 | 05 | 06 | 07 | 08


อ่านทั้งหมดในหน้าเดียว


pinyo

ขอเชิญชม ศาลา และสัมผัสกับของจริงๆ ได้ที่ โชว์รูมของเรา กรุณาโทรศัพท์เข้ามาก่อน เพื่อทำการนัดหมายก่อนนะคะ ที่ 02-412-4225, 418-3917 หรือ 418-3860



Our Products | Highlights | FAQs | Contact Us | Tips For Your Sala | About Us

HOME



Sala-Tanum